ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว โดยเฉพาะการรับ-ส่งข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งข้อเท็จจริงและข่าวลือ “มีข่าวบอกต่อกันทางอินเทอร์เน็ตว่ามีหลายอำเภอในจังหวัดลำปาง มีคนเสียชีวิตหลายรายหลังจากได้รับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีหมายเลขมรณะ โดยที่เมื่อผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบยังพื้นที่ดังกล่าวนั้น ได้พบว่าข่าวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงข่าวลือไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด” ข่าวที่กล่าวถึงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และยังมีการพูดถึงเป็นระยะ ๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีการส่งต่อกันทางไลน์, เฟซบุ๊ก, อีเมล, ทวิตเตอร์ ซึ่งมีหลายคนที่เกิดความกลัวและเชื่อว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริง นี่คือตัวอย่างของ “ข่าวลือ” (Rumor) หมายถึง เรื่องราวที่ส่งต่อ ๆ กันมาโดยที่สืบหาต้นตอไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะเอาความจริงจากข่าวลือต่าง ๆ นั้น ข่าวลือส่วนมากมักจะเป็นข่าวลือเชิงลบ (Negative Rumor) ที่มีเรื่องราวบิดเบือนจากความจริงโดยทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่กระนั้นก็ดีข่าวลือเป็นเรื่องที่มีผลทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้รับสารไม่มากก็น้อย ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบว่าข่าวลือสามารถแพร่สะพัดได้อย่างรวดเร็ว โดยมักถูกส่งต่อจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อจุดมุ่งหมายและเจตนาที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากข่าวลือนั้น ๆ เราจะจัดการยังไงกับข่าวลือ 1. ตรวจสอบที่มาของข่าวลือนั้นว่ามาจากแหล่งข่าวใด โดยเบื้องต้นนำคำสำคัญของข้อมูลข่าวสารนั้นไปค้นหาใน Google เมื่อพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารนั้นแล้ว ให้เลือกอ่านเฉพาะข้อมูลที่มาจากเว็บไซด์ที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซด์ของหน่วยราชการ 2. ตรวจสอบระยะเวลาของข้อมูลนั้น ๆ ด้วยว่าเป็นข้อมูลเก่าหรือใหม่ เพราะข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมานานแล้วนั้นในปัจจุบันอาจมีการอัปเดตเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลเดิมแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบระยะเวลาของการนำเสนอข่าวสารจึงมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารนั้น
Read more