Friday
17 Novหินจาก“ชิกซูลุบ”เผยข้อมูลใหม่ฤดูหนาวล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์
คณะนักธรณีฟิสิกส์นานาชาติ ผู้ขุดเจาะชั้นหินของหลุมอุกกาบาตชิกซูลุบ (Chicxulub) ซึ่งจมอยู่ใต้อ่าวเม็กซิโก เผยถึงผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับฤดูหนาวอันยาวนานที่ไดโนเสาร์ต้องเผชิญ หลังอุกกาบาตยักษ์พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน และทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก
ผลการวิเคราะห์ชั้นหินที่ขุดเจาะขึ้นมาชี้ว่า อุกกาบาตยักษ์ความกว้าง 12 กิโลเมตร พุ่งเข้าหาจุดปะทะจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยความเร็ว 18 กิโลเมตรต่อวินาที และพุ่งชนพื้นโลกที่บริเวณทะเลตื้นโดยทำมุม 60 องศา ทำให้เกิดหลุมลึกในชั่วพริบตา เนื่องจากหินและแร่ธาตุปริมาณหลายล้านล้านตันระเหยเป็นไอขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
ในบรรดาหินที่ระเหยเป็นไอนี้ มีแร่ธาตุอย่างยิปซัมและแอนไฮไดรต์ ซึ่งมีกำมะถันเป็นส่วนประกอบปะปนอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็ยังมีแร่ธาตุจำพวกคาร์บอเนต ที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นอีกจำนวนมากด้วย
ไอระเหยของแร่ธาตุเหล่านี้ พุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง โดยมีกำมะถันราว 325 กิกะตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 425 กิกะตันรวมอยู่ด้วย
แม้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกและอุณหภูมิที่สูงขึ้นในระยะยาว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือไอกำมะถันซึ่งผสมกับฝุ่นควัน ได้ทำให้อากาศเย็นลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง
ศาสตราจารย์โจอันนา มอร์แกน นักธรณีฟิสิกส์ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักรบอกว่า ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์คำนวณผลของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น หากมีไอกำมะถัน 100 กิกะตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,400 กิกะตัน ฟุ้งกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก
โดยพบว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะทำให้ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอากาศที่พื้นผิวโลกทั้งปี ลดลงอย่างน้อย 26 องศาเซลเซียส และจะมีช่วงเวลา 3-16 ปีหลังจากนั้นที่โลกมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง
“ขณะนี้เราทราบแล้วว่า ปริมาณกำมะถันที่ระเหยเป็นไอขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศหลังอุกกาบาตพุ่งชนโลก 66 ล้านปีก่อน มีสูงกว่าที่แบบจำลองดังกล่าวคาดการณ์ไว้มากหลายเท่า ซึ่งก็หมายความว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกรวมทั้งไดโนเสาร์ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเหน็บรุนแรงเป็นเวลานานยิ่งกว่านั้นมากนัก” ศ. มอร์แกนกล่าว
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-41875048