”โอมูอามูอา” ดาวเคราะห์น้อยรูปทรงยาวรีประหลาด

ภาพจำลอง 'โอมูอามูอา' ค่อย ๆ เคลื่อนพ้นออกจากระยะการมองเห็นของกล้องโทรทรรศน์

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า พบดาวเคราะห์น้อยรูปทรงยาวที่สุดที่เคยพบมา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งความเร็วในการเคลื่อนที่ และทิศทางทำให้เชื่อว่า หินอวกาศขนาดใหญ่นี้ น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากระบบสุริยะอื่น

นักดาราศาสตร์ ต้องเร่งสังเกตและบันทึกข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า ‘โอมูอามูอา’ (Oumuamua) ก่อนที่มันจะพ้นไปจากระยะของกล้องโทรทรรศน์ โดยเชื่อว่ามันมีรูปทรงยาว โดยที่มีความยาวอย่างน้อย 10 เท่าของความกว้าง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แปลกกว่าหินอวกาศที่พบได้ในระบบสุริยะของโลก

จากการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์เวรี ลาร์จ เทเลสโคป ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศชิลี ดร.คาเรน มีช จากสถาบันดาราศาสตร์ ที่ฮอนโนลูลู ฮาวาย และทีมงานระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย ยาว 400 เมตร หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว และมีความสว่างผันแปรได้อย่างมาก ซึ่งคุณสมบัตินี้บ่งชี้ถึงรูปร่างที่แปลกประหลาดของโอมูอามูอา

ดร. มีชกล่าวว่า “เมื่อพิจารณาฐานข้อมูลกราฟแสงของดาวเคราะห์น้อยที่เรามีอยู่ พบว่ามีดาวเคราะห์น้อยเพียง 5 ดวง จากทั้งหมด 20,000 ดวง ที่มีกราฟแสงแบบชี้ว่าน่าจะมีรูปทรงในอัตราส่วนแกนกว้างยาวประมาณ 7-8 ต่อ 1”

“ค่าความผิดพลาดในการคำนวณของเราต่ำมาก ดังนั้น เรามั่นใจว่าวัตถุมีรูปทรงยาว แต่เราไม่รู้ว่าแกนหมุนชี้ไปทางไหน อย่างไรก็ตามเราสันนิษฐานว่าแกนหมุนทำมุมฉากกับเส้นสายตา แต่หากดาวเคราะห์น้อยมีแกนหมุนเอียงลาด จะทำให้เกิดภาพลวงตาเมื่อสังเกตจากระยะไกล ซึ่งจะทำให้คาดคะเนใหม่ได้ว่าสัดส่วนอย่างต่ำของดาวเคราะห์น้อยอาจอยู่ที่ 10:1 หรืออาจจะยาวกว่านั้นอีก” ดร.มีชกล่าว

ความเร็วและความเยื้องของวิถีการเคลื่อนที่ ชี้ว่าเป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะของโลก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ‘โอมูอามูอา’ จะมีลักษณะคล้ายวัตถุอวกาศที่พบได้ใกล้กับโลกด้วย ซึ่งดร.มีช ระบุว่า “เราพบว่ามันมีสีออกแดง คล้ายวัตถุที่อยู่รอบนอกของระบบสุริยะ ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นวัตถุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสิ่งใด ไม่มีแม้แต่ฝุ่นละอองสักนิดอยู่โดยรอบ”

ลักษณะดังกล่าวบ่งชี้ว่า ‘โอมูอามูอา’ มีความหนาแน่นสูง ประกอบไปด้วยหินแข็งและอาจมีโลหะปนอยู่ ไม่มีน้ำหรือน้ำแข็ง และพื้นผิวเป็นสีออกแดงเนื่องจากสัมผัสรังสีคอสมิกมาเป็นเวลานาน

แม้คาดว่า ‘โอมูอามูอา’ ถือกำเนิดขึ้นในระบบสุริยะอื่น แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า มันคงล่องลอยอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกโดยไม่ได้ดึงดูดเชื่อมโยงกับระบบสุริยะใดเลยมาเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ก่อนที่จะผ่านเข้ามายังระบบสุริยะของโลก

ศ.โทมัส ซูร์บูเชน รองผู้บริหารศูนย์บัญชาการภารกิจด้านวิทยาศาสตร์ของนาซา กล่าวว่า “นับเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่เราตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับวัตถุอวกาศจากระบบดาวอื่น และนี่เป็นครั้งแรก ที่พบหลักฐานว่ามีอยู่จริง” ซึ่ง “การค้นพบที่สร้างประวัติศาสตร์นี้ เปิดทางให้กับการศึกษาการก่อตัวของระบบสุริยะอื่นต่อไป”

นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์เวรี ลาร์จ เทเลสโคป ในประเทศชิลี สังเกตดาวเคราะห์น้อย

ดร.มีช อธิบายถึงหลายสาเหตุที่อาจทำให้ ‘โอมูอามูอา’ มีรูปทรงยาวว่า “หลายคนในทีมตั้งข้อสังเกตว่า บางครั้งวัตถุที่มีรูปทรงยาวอาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบดาวคู่ที่โคจรสัมผัสกัน (Contact binary) แต่หากเป็นเช่นนั้น วัตถุอวกาศนี้จะต้องยาวกว่าวัตถุส่วนมากที่เคยพบมาในสุริยะจักรวาล นอกจากนี้ การวิเคราะห์ของเราชี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยหมุนรอบตัวเองเร็วมากจนไม่น่าจะมีสิ่งอื่นอยู่เป็นระบบดาวคู่ด้วยกันได้”

นอกจากนี้ “หนึ่งในทีมงานสันนิษฐานว่า ในระหว่างการก่อตัวของระบบดาวเคราะห์ หากมีการชนกันระหว่างวัตถุที่มีแกนเหลว อาจมีบางส่วนที่กระเด็นออกมา และแข็งตัวกลายเป็นรูปทรงยาวได้ นอกจากนี้ บางคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีเหตุการณ์บางอย่างเช่นซูเปอร์โนวาเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และทำให้วัตถุที่กระเด็นออกมาเกิดเป็นรูปทรงยาวได้” ดร.มีชกล่าว

ดาวเคราะห์น้อยนี้ ค้นพบโดยดร.ร็อบ เวอร์ยิก นักวิจัยของสถาบันดาราศาสตร์ที่ฮอนโนลูลู ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์

ส่วนชื่อ ‘โอมูอามูอา’ เป็นภาษาฮาวาย แปลว่า “ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่ล่วงหน้ามาก่อน”

 

ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-42061750

 

Rate Us

Rate our Website !!

Links

SDalumni PTAD St.John Bosco's Bicentenary SAVIO ESPRESSO

CONTACT US

โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
1526 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
E-mail : [email protected]
Tel. 02-652-7477-80 Fax. 02-652-7777
Saint Dominic School