Friday
24 Novมลภาวะทางแสง: ความมืดที่หายไปในหลายประเทศ
ผลการศึกษาภาพถ่ายโลกในเวลากลางคืน ชี้ว่าแสงสว่างจากหลอดไฟ กำลังเพิ่มขึ้นและครอบคลุมบริเวณกว้างขึ้นทุกปี โดยระหว่างปี 2012 และ 2016 มีพื้นที่กลางแจ้งที่มีไฟส่องสว่างเพิ่มขึ้นกว่า 2% ต่อปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า “ความมืดในช่วงกลางคืนที่หายไป” ในหลายประเทศ กำลังส่งผลเสียต่อ “พืช สัตว์ และมนุษย์”
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไซแอนซ์ แอดวานซ์ส์ (Science Advances) อาศัยข้อมูลจากเครื่องวัดรังสีที่ติดตั้งบนดาวเทียมของนาซา ซึ่งออกแบบมาเพื่อวัดค่าแสงในเวลากลางคืนโดยเฉพาะ
ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่าแสงสว่างที่เปลี่ยนไป มีความตากต่างกันเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายประเทศ โดยบางประเทศที่ส่องสว่างเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้วอย่างสหรัฐฯ และสเปน ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชียมีแสงสว่างเพิ่มขึ้น และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มืดลง เช่น เยเมน และซีเรีย ซึ่งทั้งคู่อยู่ในภาวะสงคราม
ภาพถ่ายดาวเทียมจากเวลากลางคืน แสดงให้เห็นเส้นชายฝั่งและเครือข่ายของเมืองที่อาจดูสวยงาม แต่แสงไฟเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึงต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
เรายังต้องการความมืดตามธรรมชาติ
ในปี 2016 สมาคมแพทย์แห่งอเมริกา ยอมรับอย่างเป็นทางการถึง “ผลเสียจากแสงไฟแอลอีดีที่ออกแบบมาไม่ได้คุณภาพและมีความเข้มข้นสูง” โดยได้ส่งเสริมให้ประชาชน ลดและควบคุมแสงไฟสีฟ้าในสภาพแวดล้อม ด้วยการลดค่าความสว่างของไฟสีฟ้าไม่ให้จ้าเกินไป เนื่องจากฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งทำให้ง่วงนอนจะอ่อนไหวต่อแสงสีฟ้า
ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้จากวารสารวิชาการเนเจอร์ เผยว่าแสงจากหลอดไฟ เป็นภัยต่อการผสมเกสรของพืช โดยมีผลทำให้แมลงที่หากินในเวลากลางคืนผสมเกสรน้อยลง
ผลการวิจัยในสหราชอาณาจักร เผยว่าต้นไม้ในบริเวณที่มีไฟส่องสว่าง จะออกดอกเร็วกว่าปกติ 1 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับต้นไม้ที่ไม่ได้อยู่ในบริเวณที่มีแสงไฟ
ผลการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าแสงสว่างในเมือง มีส่วนทำให้นกที่อพยพในเวลากลางคืน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
ดร.คริสโตเฟอร์ ไคบา จากศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์แห่งเยอรมนี ในเมืองพอตส์ดัม กล่าวว่า การใช้หลอดไฟส่องสว่างเป็น “หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่สำคัญ ซึ่งมนุษย์ก่อขึ้นกับสิ่งแวดล้อม”
ในตอนแรก ดร.ไคบาและทีมงานคาดว่า เมืองที่ฐานะร่ำรวยและพื้นที่อุตสาหกรรมจะส่องสว่างน้อยลง เพราะการเปลี่ยนจากหลอดไฟโซเดียมที่มีสีส้ม ไปใช้หลอดไฟแอลอีดีที่ประหยัดไฟกว่า จะทำให้เซนเซอร์บนดาวเทียมไม่สามารถวัดค่าสเปกตรัมแสงสีฟ้าจากหลอดไฟแอลอีดีได้
นายไคบา กล่าวกับบีบีซี นิวส์ว่า “ผมคาดว่า ในหลายประเทศที่ร่ำรวย เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี เราจะเห็นแสงสว่างลดลง โดยเฉพาะในบริเวณที่ส่องสว่างมาก ๆ” แต่ “เรากลับเห็นว่าประเทศอย่างสหรัฐฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนสหราชอาณาจักรและเยอรมนี กำลังส่องสว่างยิ่งขึ้น”
เนื่องจากเซนเซอร์บนดาวเทียม ไม่สามารถตรวจจับค่าแสงสีฟ้าที่มนุษย์มองเห็นได้ ในความเป็นจริงเราจึงจะได้รับแสงสว่างมากขึ้นกว่าที่นักวิจัยจะวัดค่าได้
ศ.เควิน แกสตัน จากมหาวิทยาลัยเอ็กซ์เตอร์ กล่าวกับบีบีซี นิวส์ว่า มนุษย์กำลัง “ทำให้ตัวเองต้องสัมผัสกับแสงสว่างที่ผิดปกติ”
‘แสงน้อยลง กับการมองเห็นที่ดีขึ้น’
ศ.แกสตัน กล่าวว่า ขณะนี้ในยุโรปแทบจะหาท้องฟ้าที่เป็นธรรมชาติในเวลากลางคืนไม่ได้แล้ว และพบว่ามลภาวะทางแสงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องน่าสนใจด้วย
“เมื่อเราคิดถึงการที่มนุษยชาติทำลายสิ่งแวดล้อม การแก้ไขหรือฟื้นฟูกลับมาใหม่จะต้องใช้ความพยายามมาก”
ดร.ไคบา กล่าวว่า “ในกรณีของแสงไฟ เราต้องกำหนดว่าต้องการให้ส่องสว่างที่ไหน และไม่ควรใช้ไปอย่างสูญเปล่าในที่ที่ไม่จำเป็น” รวมถึงอธิบายว่า เราสามารถทำให้พื้นที่เมืองสว่างน้อยลงได้ โดยไม่เป็นปัญหากับการมองเห็น “การมองเห็นของคนเราต้องอาศัยความคมชัด ไม่ใช่ปริมาณของแสง… ดังนั้นการลดแสงที่ตัดกันกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงโคมไฟที่มีแสงจ้า จะช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้นในสภาพที่มีแสงน้อยลง”
ดร.ไคบา ชี้ว่าการลดใช้หลอดไฟ “อาจช่วยประหยัดพลังงานได้มาก แต่ข้อมูลของเราชี้ว่า นี่ยังไม่ใช่ทิศทางที่กำลังเป็นอยู่ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก”
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-42094264