Friday
1 Decสนามแม่เหล็กเปลี่ยนรสนิยมทางดนตรีได้ในพริบตา
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ในแคนาดา ทำการทดลองที่พิสูจน์ว่า รสนิยมทางดนตรีของแต่ละคนสามารถจะถูกเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วพริบตา โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำสมองบางส่วน ทำให้รู้สึกชอบเสียงดนตรีที่ได้ฟังมากขึ้นหรือน้อยลงได้
ผู้ทำการทดลองจัดให้อาสาสมัคร 17 คน ฟังคลิปเสียงดนตรีหลากหลายประเภทจากคอมพิวเตอร์ และบอกกับอาสาสมัครด้วยว่าสามารถสั่งซื้อคลิปเพลงที่ชอบได้ตามอัธยาศัย จากนั้นได้ให้อาสาสมัครพิจารณาให้คะแนนความพึงพอใจต่อคลิปเสียงดนตรีที่ได้ฟังแต่ละเพลงด้วย
ในขั้นตอนต่อไป นักวิทยาศาสตร์ได้ให้อาสาสมัครฟังเพลงอีกครั้ง แต่คราวนี้ได้ใช้อุปกรณ์สร้างสนามแม่เหล็กมาเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นหรือกดการทำงานของสมองในบริเวณจำกัด ซึ่งเป็นวิธีการที่เรียกว่า Transcranial Magnetic Stimulation (TMS)
การทำเช่นนี้ต่อบริเวณสมองส่วนหน้าที่อยู่ด้านบน (Dorsolateral Prefrontal Cortex – DLPFC ) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกระบวนการใช้เหตุผล การวางแผน ความจำ และการยับยั้งชั่งใจ ได้ทำให้พฤติกรรมและความชื่นชอบในการฟังดนตรีของอาสาสมัครเปลี่ยนไป โดยเมื่อใช้สนามแม่เหล็กกระตุ้นสมองส่วน DLPFC มีการให้คะแนนชื่นชอบเพลงที่ได้ฟังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจ่ายเงินซื้อคลิปเพลงที่ตนไม่ชอบจากการฟังครั้งแรกเพิ่มขึ้น 10% ด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้สนามแม่เหล็กกดการทำงานของสมองส่วนดังกล่าว พบว่ามีการให้คะแนนกับเพลงต่าง ๆ ที่ได้ฟังลดลง และอาสาสมัครจ่ายเงินซื้อคลิปเพลงน้อยลงถึง 15%
ดร. โรเบิร์ต ซาทอร์เร ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบมาแล้วว่าการกระตุ้นสมองส่วน DLPFC ด้วยสนามแม่เหล็ก จะทำให้การหลั่งสารโดพามีนของสมองเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปริมาณโดพามีนที่หลั่งในส่วน Striatum หรือส่วนรับสัญญาณที่ปมประสาทฐานของสมอง ซึ่งจะมีหน้าที่ประเมินผลให้เกิดความพึงพอใจต่อสิ่งที่ได้รับต่าง ๆ
ดร. ซาทอร์เร ยังบอกว่า เทคนิคการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กนี้ นอกจากจะใช้เปลี่ยนแปลงรสนิยมในทางดนตรีของแต่ละคนได้ชั่วคราวแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการบำบัดทางจิตเวชสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้มีพฤติกรรมหมกมุ่นหรือเสพติดสิ่งต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยอาจใช้ฟื้นความรู้สึกพึงพอใจและรื่นรมย์กับสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยสูญเสียไปให้กลับคืนมา
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-42094264