Thursday
4 Janพบระบบสุริยะใหม่ “แทรปปิสต์–วัน” คาดมีน้ำ
นาซาประกาศการค้นพบระบบสุริยะใหม่ “แทรปปิสต์ – วัน” (Trappist-1) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 40 ปีแสง ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก 7 ดวง ซึ่งในจำนวนนี้ 3 ดวงอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสมจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางซึ่งเอื้อต่อการมีสิ่งมีชีวิต ทั้งคาดว่าอาจมีน้ำบนพื้นผิวดาวเหล่านี้ด้วย
ผลการค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์โดยระบุว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ของนาซาได้พบระบบสุริยะที่ดาวฤกษ์ศูนย์กลางมีมวลต่ำและมีอุณหภูมิไม่สูงนัก ส่วนดาวเคราะห์เจ็ดดวงที่โคจรล้อมรอบต่างเรียงตัวในระยะที่ไม่สู้ห่างจากกัน คล้ายกับการเรียงตัวของดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี
ศาสตราจารย์ไมเคิล กิลลอน หนึ่งในคณะนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบระบบสุริยะนี้บอกว่า การที่ดาวฤกษ์ศูนย์กลางมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ทำให้ดาวเคราะห์สามดวงในระบบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการมีน้ำบนพื้นผิว และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้ ซึ่งความเป็นไปได้นี้ขึ้นอยู่กับว่าดาวเคราะห์ดังกล่าวมีความดันบรรยากาศในระดับที่เพียงพอด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องสำรวจค้นคว้ากันต่อไป
ด้านศาสตราจารย์บริซ-โอลิเวอร์ เดมอรี หนึ่งในคณะผู้ค้นพบระบบสุริยะ แทรปปิสต์-วัน บอกว่า มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ ซึ่งจะถูกนำมาใช้งานแทนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในการมองหาร่องรอยโมเลกุลของโอโซนในบรรยากาศของดาวในระบบสุริยะใหม่นี้ ซึ่งโอโซนจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีความเคลื่อนไหวทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตบนดาวอยู่
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-39060924