Thursday
4 Janเอกภพเต็มไปด้วยดวงจันทร์ที่ถูกเหวี่ยงทิ้งออกจากระบบ
ดวงจันทร์บริวารที่โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exomoon) นั้นเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก โดยในปัจจุบันนักดาราศาสตร์เพิ่งพบร่องรอยของดวงจันทร์บริวารแบบดังกล่าวเพียงดวงเดียว และยังไม่มีการพิสูจน์ยืนยันอย่างแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ ทำให้เกิดข้อสงสัยกันว่า เหตุใดดวงจันทร์นอกระบบสุริยะจึงหาพบได้ยากนัก
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ระบุว่า การที่ดวงจันทร์นอกระบบสุริยะมีขนาดเล็กและตั้งอยู่ห่างไกลจากโลกเป็นอย่างมาก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะค้นพบ แต่อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าดวงจันทร์นอกระบบสุริยะนั้นอาจมีอยู่น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งรายงานการวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal ชี้ว่า ดวงจันทร์เหล่านี้ส่วนใหญ่อาจถูกเหวี่ยงจนหลุดลอยออกจากวงโคจรรอบดาวเคราะห์ของตน และกลายเป็นอดีตดวงจันทร์บริวาร (Ex-moon) ไปในที่สุด
น.ส. หง ยู่เซียน นักศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยคอร์แนลในสหรัฐฯ ได้ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ศึกษาสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบสุริยะอื่น ๆ ในเอกภพเกิดความปั่นป่วนในระยะแรกก่อตัว ซึ่งในช่วงเวลาเช่นนี้ดาวเคราะห์ในระบบอาจมีวงโคจรที่ผันผวนและเฉียดเข้าใกล้ดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งได้ ส่งผลให้ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ที่อยู่รอบนอกถูกเหวี่ยงจนหลุดออกนอกระบบไปได้ง่าย ๆ
ผู้วิจัยเผยว่า มีโอกาสถึง 41% ที่ดวงจันทร์นอกระบบสุริยะจะถูกเหวี่ยงหลุดออกจากวงโคจรของดาวเคราะห์เดิม และออกไปลอยเคว้งคว้างอยู่ในห้วงอวกาศเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็จะทำให้พวกมันไม่ได้เป็นดวงจันทร์บริวารอีกต่อไป อันอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักดาราศาสตร์ไม่สามารถค้นหาดวงจันทร์นอกระบบสุริยะพบได้
การที่อดีตดวงจันทร์บริวารถูกเหวี่ยงให้ออกไปล่องลอยอยู่อย่างไร้จุดหมาย เป็นสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของดาวเคราะห์ก๊าซขนาดยักษ์ ซึ่งมีแรงดึงดูดเปลี่ยนแปลงผันผวนบ่อยจนส่งผลให้วงโคจรมีความไม่แน่นอนได้เป็นครั้งคราว อันเป็นสาเหตุให้สูญเสียดวงจันทร์บริวารไปได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม อดีตดวงจันทร์บริวารที่หลุดลอยไปในห้วงอวกาศนี้ มีโอกาสจะถูกแรงดึงดูดของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นจับเอาไว้อีกได้ เช่นในกรณีของดวงจันทร์ไทรทัน (Triton) ของดาวเนปจูนนั้น มีร่องรอยที่ชี้ว่าอาจเป็นอดีตดาวบริวารของระบบอื่นที่ล่องลอยเข้ามาอยู่ในระบบสุริยะของโลก และได้คืนสถานะกลับเป็นดวงจันทร์บริวารอีกครั้ง แต่สถานการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากเพียง 2% เท่านั้น
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-42550205