Friday
9 Febพบฟอสซิลญาติโบราณมีหางของแมงมุมในอำพัน100 ล้านปี
คณะนักบรรพชีวินวิทยาชาวจีนและสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาก้อนอำพัน 4 ชิ้นที่พบในประเทศเมียนมา ซึ่งมีความเก่าแก่ถึงราว 100 ล้านปี และมีฟอสซิลสัตว์ขาปล้องมีหางขนาดเล็กที่จัดว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเชิงวิวัฒนาการกับแมงมุมที่เรารู้จักในปัจจุบันอยู่ด้วย
คณะผู้วิจัยฟอสซิลในก้อนอำพันดังกล่าว ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้สัตว์โบราณประเภทนี้ว่า Chimerarachne yingi คาดว่ามีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสซึ่งร่วมสมัยกับไดโนเสาร์อย่างทีเร็กซ์ การที่รูปร่างของมันมีลักษณะของสัตว์จำพวกแมงมุมทั้งในยุคเก่าและยุคใหม่ปะปนกัน ทำให้มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกับตัวไคเมรา (Chimera) สัตว์ในเทพปกรณัมกรีกที่นำอวัยวะส่วนต่าง ๆ จากสัตว์หลายชนิดมาประกอบกัน
Chimerarachne yingi สามารถผลิตเส้นใยเหนียวคล้ายใยแมงมุม แต่คาดว่าไม่น่าจะชักใยขึ้นเป็นรูปร่างตาข่ายได้ มันมีบรรพบุรุษร่วมกันกับแมงมุมยุคใหม่และแมงมุมหิน ซึ่งบรรพบุรุษดังกล่าวมีชีวิตอยู่เมื่อราว 315 ล้านปีก่อน แต่สัตว์โบราณชนิดที่อยู่ในก้อนอำพันนี้ ได้แตกสายวิวัฒนาการออกไปเป็นกลุ่มที่มีหางยาว โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหางนี้ไว้ทำประโยชน์อะไรและมีพิษหรือไม่
คาดว่าญาติโบราณของแมงมุมชนิดนี้ อาศัยอยู่ตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ในป่าทึบ โดยอาจหลบอยู่ใต้เปลือกไม้หรือในกลุ่มมอสส์ที่เกาะตามโคนต้นไม้
ดร. พอล เซลเดน จากมหาวิทยาลัยแคนซัสของสหรัฐฯ หนึ่งในคณะวิจัยบอกว่า มีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่สัตว์โบราณขนาดจิ๋วชนิดนี้จะยังคงมีชีวิตรอดและดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในป่าลึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน เพราะเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลปราศจากการรบกวน แต่ความเป็นไปได้ดังกล่าวมีอยู่น้อยมาก
แมงมุมไม่ใช่แมลงแต่เป็นสัตว์ขาปล้องในอันดับ Araneae เช่นเดียวกับแมงป่อง ถือว่าเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในด้านวิวัฒนาการและการขยายเผ่าพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก โดยแมงมุมมีอยู่มากถึง 47,000 ชนิดพันธุ์ในปัจจุบัน
ที่มา – http://www.bbc.com/thai/international-42956028