Monday
21 Mayพบหลุมดำขยายตัวโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมาในจักรวาล
ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ค้นพบหลุมดำมวลยิ่งยวด (Supermassive black hole) ที่ขยายตัวในอัตรารวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบและบันทึกเอาไว้ โดยหลุมดำนี้ดูดกลืนมวลสารปริมาณเท่าดวงอาทิตย์เข้าไปทุก 2 วัน และปลดปล่อยพลังงานเป็นแสงสว่างเจิดจ้าในรูปแบบของ “เควซาร์” (Quasar) อีกด้วย
หลุมดำขนาดยักษ์ที่ว่านี้ อยู่ห่างจากโลกกว่า 12,000 ล้านปีแสง มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 20,000 ล้านดวง และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยอัตราการขยายตัว 1% ในทุก 1 ล้านปี
ดร.คริสเตียน วูล์ฟ ผู้นำทีมนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบหลุมดำดังกล่าวระบุว่า การที่มันดูดกลืนมวลสารปริมาณมากเข้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการปลดปล่อยความร้อนและพลังงานมหาศาลออกมาบริเวณจานสะสมกลุ่มฝุ่นและก๊าซที่หมุนวนอยู่โดยรอบ (Accretion disc) โดยส่วนใหญ่เป็นการปลดปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีเอกซ์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดแสงสว่างเจิดจ้าในระดับสูงรอบหลุมดำมวลยิ่งยวด จนจัดได้ว่าเป็น “เควซาร์” หรือวัตถุส่องสว่างพลังงานสูงที่มักพบในห้วงอวกาศลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนแกนกลางของดาราจักรที่มีอายุเก่าแก่
“หากหลุมดำนี้ตั้งอยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก กลุ่มก๊าซมีประจุไฟฟ้าที่อยู่โดยรอบจะส่องสว่างเจิดจ้าบนท้องฟ้ายิ่งกว่าพระจันทร์เต็มดวงถึง 10 เท่า แต่ความรุนแรงของรังสีเอกซ์ที่แผ่ออกมา ก็จะทำให้โลกไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้เช่นกัน” ดร. วูล์ฟกล่าว
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ SkyMapper และข้อมูลจากดาวเทียม Gaia ขององค์การอวกาศยุโรป ในการระบุตำแหน่งของหลุมดำมวลยิ่งยวดดังกล่าว โดยชี้ว่าการที่มันมีอายุเก่าแก่กว่าหมื่นล้านปีเช่นนี้ แสดงว่าได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงแรก ๆ หลังการระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบงเลยทีเดียว ซึ่งนักดาราศาสตร์จะสามารถใช้แสงจากเควซาร์รอบหลุมดำนี้เพื่อการศึกษาความเป็นมาของจักรวาลในยุคเริ่มต้นที่ยังไม่มีดาวฤกษ์หรือ “ยุคมืด” ได้
รายงานการค้นพบนี้ถูกนำออกเผยแพร่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org และกำลังเตรียมจะตีพิมพ์ลงในวารสารสมาคมดาราศาสตร์แห่งออสเตรเลียต่อไป