Monday
21 May“ปลูกถ่ายความทรงจำ” ในหอยทากทะเลได้สำเร็จ
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) ของสหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จในการปลูกถ่ายความทรงจำ (Memory transplant) ให้กับหอยทากทะเลชนิดหนึ่งได้แล้ว
มีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานดังกล่าวในวารสาร eNeuro โดยศาสตราจารย์เดวิด แกลนซ์แมน ผู้นำทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ได้ทดลองฝึกให้หอยทากทะเล Aplysia californica รู้จักสร้างกลไกป้องกันตัวเมื่อส่วนหางถูกสัมผัสด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ซ้ำกันหลายครั้ง
ผลปรากฏว่าหอยทากทะเลซึ่งเป็นกลุ่มทดลอง เรียนรู้ที่จะหดตัวเข้าในเปลือกเพื่อหลบกระแสไฟฟ้าให้นานขึ้น โดยคิดเป็นเวลาเฉลี่ยราว 50 วินาทีในครั้งหลัง ๆ นับว่าเป็นพฤติกรรมหลบภัยที่กินเวลานานกว่าหอยทากทะเลกลุ่มที่ไม่ถูกช็อตไฟฟ้าอย่างมาก
ในขั้นต่อไป ทีมผู้วิจัยได้สกัดเอา RNA ซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลสำคัญในเซลล์ ออกจากระบบประสาทของหอยทากทะเลที่ถูกไฟฟ้าช็อต แล้วนำไปฉีดให้กับหอยทากทะเลที่ยังไม่เคยถูกฝึกให้หลบภัยจากกระแสไฟฟ้ามาก่อน ผลปรากฏว่าหอยทากทะเลกลุ่มหลังเปลี่ยนไปมีพฤติกรรมหดตัวหลบภัยนานขึ้นเป็น 40 วินาที โดยไม่ต้องถูกฝึกด้วยการช็อตไฟฟ้าแต่อย่างใด
ศ. แกลนซ์แมนชี้ว่า ผลการทดลองดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าความทรงจำไม่ได้ถูกเก็บรักษาอยู่แต่ในไซแนปส์ (Synapse) หรือรอยต่อระหว่างเซลล์ประสาทตามที่เคยเข้าใจกันมาเท่านั้น แต่ความทรงจำบางประเภทยังถูกเก็บไว้กับ RNA ซึ่งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ประสาทอีกด้วย ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถโอนถ่ายความทรงจำได้ผ่านการปลูกถ่าย RNA เช่นในครั้งนี้
แม้วิธีการดังกล่าวอาจยังใช้ไม่ได้กับการโอนถ่ายความทรงจำที่มีรายละเอียดมากและซับซ้อนของมนุษย์ แต่ทีมผู้วิจัยหวังว่า การค้นพบนี้อาจนำไปสู่วิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์และภาวะผิดปกติจากความเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนใจ (PTSD) อย่างได้ผล รวมทั้งช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจเรื่องกลไกการเก็บรักษาความทรงจำในระดับเซลล์ให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงประสาทวิทยาหลายรายได้ออกมาแสดงความเคลือบแคลงสงสัยต่อการทดลองดังกล่าวว่า จัดเป็นการปลูกถ่ายความทรงจำได้อย่างแท้จริงหรือไม่ บางคนชี้ว่าแม้เซลล์ประสาทของหอยทากทะเลชนิดนี้จะมีกลไกการทำงานคล้ายคลึงกับมนุษย์ก็จริง แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่อีกหลายด้านที่ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
ผศ. ดร. โทมัส ไรอัน จากวิทยาลัยทรินิตีคอลเลจ มหาวิทยาลัยดับลินของไอร์แลนด์ แสดงความเห็นว่า “พฤติกรรมตอบสนองพื้นฐานของสัตว์บางชนิดอยู่ในยีน ซึ่ง RNA จะควบคุมสวิตช์เปิดปิดการทำงานของยีนนั้นอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่นำไปฉีดให้หอยทากทะเลในการทดลองอาจมีตัวการเปิดสวิตช์นี้อยู่ ทำให้ดูคล้ายกับว่ามีการโอนถ่ายความทรงจำในเรื่องง่าย ๆ เกิดขึ้นก็เป็นได้”