โลมามีความสุขในอะควาเรียมกว่าอยู่ตามธรรมชาติจริงหรือ?

โลมา

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาชีวิตโลมาในสถานแสดงสัตว์น้ำที่ฝรั่งเศสตรวจวัด “ระดับความสุข” ของโลมาว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อต้องถูกเลี้ยงอยู่ในที่กักขัง ผลวิจัยพบว่า สัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมมักรอคอยที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่พวกมันคุ้นเคย

งานวิจัยชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายศึกษาสัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูโดยมนุษย์ผ่าน “มุมมองของโลมา” เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยสวัสดิภาพของโลมาในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปี เผยแพร่ในวารสารเชิงวิชาการ วิทยาศาสตร์พฤติกรรมสัตว์ประยุกต์ (Applied Animal Behaviour Science) โดยทีมนักวิจัยทำการประเมินว่ากิจกรรมแบบใดคือสิ่งที่โลมามีพฤติกรรมตอบสนองมากที่สุด

ดร. อิซซาเบลลา เคล็กก์ หัวหน้าคณะวิจัย ซึ่งทำงานกับสถานแสดงโลมาที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส กล่าวว่า การวิจัยนี้พยายามถอดรหัสพฤติกรรมของโลมา โดยเฉพาะลักษณะท่าทางทางกายภาพที่จะบ่งชี้ถึงความรู้สึกของสัตว์

“เราต้องการค้นหาว่ากิจกรรมแบบใดในภาวะถูกกักขังที่โลมาชอบมากที่สุด” ดร. เคล็กก์ บอกกับบีบีซี กิจกรรมสามแบบที่นักวิจัยทดลองกับโลมา ได้แก่ การให้ครูฝึกโลมาหยอกล้อ การโยนของเล่นลงไปในสระ และท้ายสุดการปล่อยให้โลมาได้ว่ายน้ำอย่างอิสระ

“เราพบผลการทดลองที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า โลมาทุกตัวตั้งตารอที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่พวกมันคุ้นเคย”

พฤติกรรมที่บอกว่าโลมาจดจ่ออยากคลุกคลีกับมนุษย์ คือการว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในระดับผิวน้ำและมองไปยังบริเวณที่ครูฝึกมักจะเข้ามาสื่อสารและสัมผัส นอกจากนี้โลมายังใช้เวลาอยู่ที่บริเวณขอบสระนานกว่าปกติ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่พบได้กับสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์และฟาร์มเช่นกัน

“ยิ่งสัตว์และคนผูกพันกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็เหมือนสัตว์ถูกเอาใจใส่เลี้ยงดูมากขึ้นเท่านั้น”

สัตว์ควรถูกนำมาเลี้ยงไว้ในสถานที่เฉพาะนั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นข้อถกเถียงที่มีมาอย่างยาวนาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้คว่ำกฎหมายที่ห้ามการเพาะเลี้ยงโลมาในสถานแสดงและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

ผู้ประกอบการสถานแสดงโลมาแห่งหนึ่งในฝรั่งเศส บอกกับบีบีซีว่า การปล่อยให้โลมาได้ผสมพันธุ์และเลี้ยงดูลูกของมันเอง เป็นวิธีที่จะทำให้สัตว์ที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์มีความสุข แม้ว่าจะแตกต่างจากโลมาที่อยู่ตามธรรมชาติก็ตาม โลมาตามธรรมชาติก็จะรู้สึกมีความสุขกว่าเมื่อได้อยู่ในทะเล ขณะที่โลมาที่เกิดและโตมากับสถานเพาะเลี้ยงย่อมจะมีความสุขกับธรรมชาติที่มันอยู่

โลมา

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ระบุว่า แม้ว่าผลวิจัยนี้จะมีคุณค่าที่ให้ข้อค้นพบว่าโลมามีพฤติกรรมมองหาการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ทั้งหมดว่า โลมาที่อยู่ในสถานแสดงและเพาะพันธุ์มีความสุขกว่าการดำรงชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ เนื่องจากพวกมันไม่ได้รับทางเลือกให้ดำรงชีวิตแบบอื่น

ข้อมูลขององค์กรอนุรักษ์โลมาและวาฬแห่งสหราชอาณาจักร เก็บสถิติไว้ว่ามีสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 3,000 ตัว ถูกเลี้ยงในสถานเพาะพันธุ์และแสดงสัตว์น้ำใน 50 ประเทศทั่วโลก แต่คณะนักวิจัยประเมินว่าอาจมีมากถึงราว 5,000 ตัว ที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ

การนำวาฬและโลมามาเลี้ยงดูมีประวัติย้อนหลังยาวนานกว่า 150 ปีมาแล้ว ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า นั่นทำให้สัตว์จำพวกนี้มีความเปลี่ยนแปลงทางวิวัฒนาการ ทั้งความเฉลียวฉลาดและทักษะทางสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น

คณะผู้วิจัยยังเสนอว่า คำถามที่ควรถูกถามต่อยอดจากงานวิจัยนี้ คือ สัตว์ที่ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงมีสวัสดิภาพการเลี้ยงดูที่ดีเพียงพอหรือไม่ จุดประสงค์ของการนำสัตว์มาจำกัดอิสรภาพคืออะไร และจะศึกษาพฤติกรรมเพื่อให้เข้าใจความต้องการของสัตว์ได้มากขึ้นอย่างไร

“แม้ว่าพวกมันจะได้รับการดูแลที่ดี เราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มขึ้นว่าสัตว์พวกนี้สื่อสารกับมนุษย์ได้จริง ๆ หากมีพวกมันเพียงแค่ทำให้มนุษย์มีความบันเทิง นั่นก็ไม่เป็นการยุติธรรมเท่าไหร่นัก” นักวิจัยกล่าว

 

ที่มา : https://www.bbc.com/thai/features-44276540

 

 

Rate Us

Rate our Website !!

Links

SDalumni PTAD St.John Bosco's Bicentenary SAVIO ESPRESSO

CONTACT US

โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
1526 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
E-mail : [email protected]
Tel. 02-652-7477-80 Fax. 02-652-7777
Saint Dominic School