Tuesday
10 Julอวกาศเต็มไปด้วยละอองไขมันสกปรกและเป็นพิษ
ห้วงอวกาศที่หนาวเย็นและดำมืดอาจจะดูเหมือนว่างเปล่าไม่มีสิ่งใดอยู่ แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียและตุรกีพบว่า พื้นที่ว่างระหว่างดวงดาวโดยเฉพาะในกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้น มีฝุ่นละอองของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีคุณสมบัติแบบไขมันล่องลอยอยู่เต็มไปหมด
ศ. ทิม ชมิดต์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า พบโมเลกุลของสารอะลิฟาติกไฮโดรคาร์บอน (Aliphatic hydrocarbon ) ที่ล่องลอยในอวกาศ ในปริมาณมากกว่าที่เคยคาดกันไว้ โดยมีถึง 1 หมื่นล้านล้านล้านล้านล้านตันในกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือเทียบเท่ากับปริมาณไขมันในเนยจำนวน 40 ล้านล้านล้านล้านล้านล้านก้อน (เลข 4 ตามด้วยเลขศูนย์ 37 ตัว)
“ในอนาคต ยานสำรวจที่เดินทางไปในห้วงอวกาศเป็นเวลานาน อาจจะถูกอนุภาคคาร์บอนที่คล้ายไขมันเหล่านี้จับตามช่องหน้าต่างจนสะสมเป็นคราบเหนียวได้” ศ. ชมิดต์ กล่าว
มีการตีพิมพ์ผลการค้นพบนี้ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งกรุงลอนดอน (MNRAS) โดยทีมผู้วิจัยระบุว่า อนุภาคฝุ่นละอองที่ล่องลอยอยู่ระหว่างดวงดาวนั้น ประกอบด้วยส่วนที่เป็นทั้งเถ้าเขม่า ซิลิกา และอนุภาคคาร์บอนที่คล้ายไขมัน โดยลมสุริยะคอยพัดให้ส่วนที่คล้ายไขมันล่องลอยไปมาอยู่ในระบบสุริยะของเรา
มีสัดส่วนของอนุภาคคาร์บอนที่เหมือนไขมันนี้อยู่เป็นจำนวน 100 อะตอม ต่อไฮโดรเจนทุก 1 ล้านอะตอมในกาแล็กซีทางช้างเผือก คิดเป็นปริมาณราว 25-50% ของคาร์บอนทั้งหมดในดาราจักรที่เราอาศัยอยู่
ผลการค้นพบนี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ใกล้จะคำนวณปริมาณคาร์บอนทั้งหมดในห้วงอวกาศได้ โดยถือเป็นข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจวัฏจักรของคาร์บอนในระดับจักรวาล ซึ่งมีผลต่อกระบวนการก่อตัวของดวงดาวและกำเนิดสิ่งมีชีวิต
“ไขมันจากอนุภาคคาร์บอนชนิดนี้ ไม่ใช่แบบเดียวกับเนยที่เราเอามาทาขนมปังรับประทาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของฝุ่นละอองระหว่างดวงดาวที่สกปรกและเป็นพิษ โดยอนุภาคนี้จะเกิดขึ้นได้ในอวกาศและสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมภายในห้องทดลองเท่านั้น” ศ. ชมิดต์ กล่าว