Wednesday
7 Novกลุ่มเมฆฝุ่นโคจรรอบโลกเหมือนดาวบริวารมีอยู่จริง
ทีมนักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวฮังการี เผยหลักฐานยืนยันว่า “เมฆคอร์ดีเลฟสกี” (Kordylewski cloud) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่โคจรรอบโลกเหมือนกับดาวบริวารดวงหนึ่งนั้นมีอยู่จริง หลังจากที่ตกเป็นข้อถกเถียงมานานหลายทศวรรษ
เมฆฝุ่นขนาดเล็กดังกล่าวซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม โคจรอยู่ในจุดสมดุลแรงโน้มถ่วงหรือจุดลากรานเจียน (Lagrangian Point ) ตำแหน่ง L5 ซึ่งห่างจากโลกราว 400,000 กิโลเมตร ซึ่งในจุดนี้แรงโน้มถ่วงจากโลกและดวงจันทร์จะมีค่าเท่ากับแรงหนีศูนย์กลางที่กระทำต่อวัตถุที่สามที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้สามารถยึดตรึงวัตถุนั้นไว้ในตำแหน่งดังกล่าวได้
ชื่อของกลุ่มเมฆฝุ่นปริศนานี้เรียกตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวโปแลนด์ คาชีเมียร์ซ คอร์ดีเลฟสกี (Kazimierz Kordylewski ) ซึ่งเป็นผู้เสนอถึงการมีอยู่ของมันต่อวงการดาราศาสตร์ในปี 1961 แต่อย่างไรก็ตาม การที่เมฆคอร์ดีเลฟสกีดูเลือนรางและสังเกตได้ยากมากบนท้องฟ้า ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเห็นว่าวัตถุอวกาศนี้ไม่น่าจะมีอยู่จริง
รายงานการค้นพบโดยทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัย Eötvös Loránd ของฮังการี ตีพิมพ์ในวารสารรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรฉบับล่าสุด โดยระบุว่าแม้จุดลากรานเจียนตำแหน่ง L5 จะไม่สู้มีความเสถียรมากนัก เพราะได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ด้วย แต่ก็เป็นจุดที่สามารถรวบรวมฝุ่นในห้วงอวกาศให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
มีการสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อทำนายถึงตำแหน่งของเมฆคอร์ดีเลฟสกีบนท้องฟ้า จากนั้นผู้วิจัยได้ถ่ายภาพตำแหน่งดังกล่าวด้วยกล้องที่มีระบบตรวจจับแสงโพลาไรซ์ชนิดพิเศษ ปรากฏว่าพบแสงโพลาไรซ์สะท้อนออกมาจากบริเวณที่เป็นเป้าหมายของการพิสูจน์อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันถึงการมีอยู่ของกลุ่มเมฆฝุ่นที่เป็นปริศนามาเกือบ 60 ปี
ดร. ยูดิต สลีซ บาลอกห์ ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “เมฆคอร์ดีเลฟสกีเป็นหนึ่งในวัตถุอวกาศที่ระบุตำแหน่งได้ยากที่สุด แม้จะอยู่ใกล้โลกในระยะห่างเท่ากับดวงจันทร์ก็ตาม นักดาราศาสตร์มักจะมองข้ามมันไป ทำให้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่เราสามารถยืนยันได้ว่า โลกมีกลุ่มเมฆฝุ่นที่โคจรวนรอบอยู่เหมือนกับดาวบริวารจริง ๆ”
หลายฝ่ายคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ องค์การอวกาศของโลกหลายแห่งจะมีโครงการวิจัยจุดสมดุลแรงโน้มถ่วง L4 และ L5 รวมทั้งเมฆคอร์ดีเลฟสกีที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อติดตั้งยานโคจรสำรวจอวกาศ หรือสร้างสถานีเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อสู่การสำรวจระบบสุริยะที่กว้างไกลออกไปมากขึ้น
ที่มา – https://www.bbc.com/thai/international-46095129