Tuesday
20 Novพบแบคทีเรียอาศัยอยู่ในสมองคนได้เหมือนกับในลำไส้
แวดวงวิทยาศาสตร์กำลังมีการค้นพบใหม่ ๆ ออกมามากขึ้นเกี่ยวกับระบบ “ชีวนิเวศจุลชีพ” (Microbiome) หรือจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมพิเศษเช่นภายในร่างกายของคนเรา ซึ่งก็พบว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสุขภาพ พันธุกรรม หรือแม้แต่อารมณ์ของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง
นอกจากระบบชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ยังมีการค้นพบว่าอวัยวะบางส่วนที่น่าจะปิดมิดชิดและปลอดเชื้ออย่างสมอง กลับกลายเป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียบางชนิดได้ ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่อาศัยอยู่ในลำไส้ด้วย
ในการประชุมวิชาการ Neuroscience 2018 ของสมาคมเพื่อประสาทวิทยาศาสตร์ (SfN)ที่เมืองซานดิเอโกของสหรัฐฯ ทีมนักประสาทกายวิภาคจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา ซึ่งนำโดย ดร. โรซาลินดา โรเบิร์ตส์ ได้นำเสนอหลักฐานเบื้องต้นจากการศึกษาชิ้นส่วนสมองของผู้เสียชีวิต 34 ราย ที่บ่งชี้ว่ามีแบคทีเรียอาศัยอยู่ในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป
ผู้วิจัยระบุว่า ชิ้นส่วนสมองในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นของผู้ป่วยโรคจิตเภท และอีกครึ่งหนึ่งเป็นของผู้ที่มีสุขภาพดีก่อนจะเสียชีวิต โดยพบแบคทีเรียรูปแท่งที่มีปลอกหุ้มอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในส่วนเปลือกสมองของกลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal cortex) สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus ) และด้านในของสมองส่วนกลางที่เรียกว่า Substantia nigra รวมทั้งในเซลล์ Astrocytes ที่เพิ่งถูกค้นพบว่ามีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทสมองด้วย
แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้เข้าไปอยู่ในสมองเพราะเกิดการปนเปื้อนระหว่างการผ่าตัดชันสูตรศพ แต่การที่มันแพร่กระจายเข้าไปอยู่ในระหว่างเนื้อเยื่อสมองส่วนต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง แสดงว่าอาจไม่ใช่เช่นนั้น
นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังพบหลักฐานเพิ่มเติมซึ่งชี้ว่ามีระบบชีวนิเวศจุลชีพในสมองของหนูทดลองอีกด้วย ทั้งที่หนูดังกล่าวถูกเลี้ยงและเติบโตมาในสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบชัดว่าแบคทีเรียเข้าไปอาศัยอยู่ในสมองได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่าอาจล่องลอยไปในกระแสเลือดจนสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในใยประสาทส่วนแอกซอน (Axon) หรือในแนวกั้นเลือดและสมอง (Blood-brain barrier)ได้ในที่สุด
บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ผลการศึกษาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นต้นและยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิ หากแต่มีความน่าสนใจสำหรับการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่า ระบบชีวนิเวศจุลชีพมีอยู่ในสมองของมนุษย์จริง จะถือเป็นการปฏิวัติความรู้ครั้งใหญ่ของวงการแพทย์และประสาทวิทยาเลยทีเดียว โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างระบบชีวนิเวศจุลชีพในลำไส้กับการทำงานของสมองและพฤติกรรมมนุษย์มาแล้ว
ที่มา – https://www.bbc.com/thai/features-46247115