“3 เก็บ” ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย

แนะ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค จากยุงลาย thaihealth

กรมควบคุมโรค เชิญชวนทุกภาคส่วนใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค จากยุงลาย

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปี จะเป็นฤดูที่มีการระบาดของโรคที่เกิดจากยุงลายสูงสุด เนื่องจากฝนที่ตกมาทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มมากกว่าช่วงอื่นๆ ของปี ดังนั้นโรคที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือ โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกที่แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ยังคงวางใจไม่ได้ต้องดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป

จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 29 พฤษภาคม 2559 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 18,044 ราย เสียชีวิต 15 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร ระยอง แม่ฮ่องสอน ภูเก็ต และตราด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 42.4 ด้านสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ในปี พ.ศ.2559 นี้ มีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังไม่นับเป็นการระบาดของโรคที่รุนแรง ซึ่งในขณะนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 9 จังหวัด และมี 7 จังหวัดที่ควบคุมโรคได้แล้ว ได้แก่ นนทบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก สุโขทัย กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรี ส่วนอีก 2 จังหวัดอุดรธานี และบึงกาฬ ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการเฝ้าระวังควบคุมโรค

นายแพทย์อำนวย กาจีนะ กล่าวต่อไปว่า จากการสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศในเดือนเมษายน 2559 พบว่า ในศาสนสถานพบลูกน้ำยุงลายถึงร้อยละ 41.5 ซึ่งทำให้ศาสนสถานมีความเสี่ยงที่จะเป็นสถานที่ ที่มีความชุกชุมของยุงลาย พาหะนำเชื้อไวรัส และอาจทำให้เกิดการระบาดของโรคในชุมชนได้ ในส่วนของโรงงานพบลูกน้ำยุงลายอยู่ที่ร้อยละ 24.4 โรงเรียนพบร้อยละ 23.7 โรงพยาบาลพบร้อยละ 10.3 และโรงแรมพบร้อยละ 8 ซึ่งตามเกณฑ์ของกรมควบคุมโรคแล้ว ในสถานที่เหล่านี้ไม่ควรพบลูกน้ำยุงลายเลย

กรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่อง สัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำสำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

อธิบดีกรมควบคุมโรคยังฝากเชิญชวนให้ภาคประชารัฐ โหลด Application สำหรับเพิ่มเติมความรู้เรื่องยุงลาย และโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ประเมินความเสี่ยงและวิธีจัดการ พร้อมแจ้งข่าวสารผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งระบบ Android OS และ iOS โดยเข้าไปที่ Play Store หรือ App Store แล้วค้นหาคำว่า “พิชิตลูกน้ำยุงลาย” ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 ที่มา : www.thainews.prd.go.th
ที่มา : http://goo.gl/gAHGM4

Rate Us

Rate our Website !!

Links

SDalumni PTAD St.John Bosco's Bicentenary SAVIO ESPRESSO

CONTACT US

โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
1526 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
E-mail : [email protected]
Tel. 02-652-7477-80 Fax. 02-652-7777
Saint Dominic School