วิธีระวังข่าวลือ ผ่านสื่อออนไลน์

ระวังข่าวลือ ผ่านสื่อออนไลน์ thaihealth

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว โดยเฉพาะการรับ-ส่งข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งข้อเท็จจริงและข่าวลือ

“มีข่าวบอกต่อกันทางอินเทอร์เน็ตว่ามีหลายอำเภอในจังหวัดลำปาง มีคนเสียชีวิตหลายรายหลังจากได้รับโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีหมายเลขมรณะ โดยที่เมื่อผู้สื่อข่าวได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบยังพื้นที่ดังกล่าวนั้น ได้พบว่าข่าวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงข่าวลือไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด” ข่าวที่กล่าวถึงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และยังมีการพูดถึงเป็นระยะ ๆ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีการส่งต่อกันทางไลน์, เฟซบุ๊ก, อีเมล, ทวิตเตอร์ ซึ่งมีหลายคนที่เกิดความกลัวและเชื่อว่าข่าวนี้เป็นเรื่องจริง

นี่คือตัวอย่างของ “ข่าวลือ” (Rumor) หมายถึง เรื่องราวที่ส่งต่อ ๆ กันมาโดยที่สืบหาต้นตอไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะเอาความจริงจากข่าวลือต่าง ๆ นั้น ข่าวลือส่วนมากมักจะเป็นข่าวลือเชิงลบ (Negative Rumor) ที่มีเรื่องราวบิดเบือนจากความจริงโดยทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่กระนั้นก็ดีข่าวลือเป็นเรื่องที่มีผลทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้รับสารไม่มากก็น้อย ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบว่าข่าวลือสามารถแพร่สะพัดได้อย่างรวดเร็ว โดยมักถูกส่งต่อจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อประเทศชาติบ้านเมือง เพื่อจุดมุ่งหมายและเจตนาที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากข่าวลือนั้น ๆ

เราจะจัดการยังไงกับข่าวลือ

1. ตรวจสอบที่มาของข่าวลือนั้นว่ามาจากแหล่งข่าวใด โดยเบื้องต้นนำคำสำคัญของข้อมูลข่าวสารนั้นไปค้นหาใน Google เมื่อพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารนั้นแล้ว ให้เลือกอ่านเฉพาะข้อมูลที่มาจากเว็บไซด์ที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซด์ของหน่วยราชการ

2. ตรวจสอบระยะเวลาของข้อมูลนั้น ๆ ด้วยว่าเป็นข้อมูลเก่าหรือใหม่ เพราะข้อมูลข่าวสารที่ผ่านมานานแล้วนั้นในปัจจุบันอาจมีการอัปเดตเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลเดิมแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบระยะเวลาของการนำเสนอข่าวสารจึงมีความสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารนั้น ๆ ด้วย

3. ควรเลือกค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ยกตัวอย่างเช่น ข่าวเกี่ยวกับการนำสมุนไพรชนิดต่าง ๆ มารักษาโรคที่มีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย เราควรพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มาจากหน่วยงาน หรือผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง อีกทั้งดูว่าข้อมูลที่นำมาเสนอนั้นมีการอ้างอิงเป็นงายวิจัยซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่สามารถตรวจสอบได้หรือเปล่า

4. เช็กก่อนแชร์ ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่มีการส่งต่อข่าวสารกันอย่างรวดเร็วไร้พรมแดน บางคนเจอข่าวอะไรทั้งในเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงไม่รู้ล่ะ แต่มือบอน อดใจไม่ได้ต้องขอกดแชร์ไว้ก่อน จึงทำให้เกิดการสร้างกระแสของข่าวลือได้ง่ายดายยิ่งขึ้น

5 .เลิกทำตัวเป็นเจ้ากรมข่าวลือ ที่ชอบปล่อยข่าวมั่วให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นการเขียน หรือส่งต่อข้อความที่หลอกลวงใส่ร้ายผู้อื่นให้ได้รับความเสียหาย การส่งข้อความ หรืออีเมลลูกโซ่ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับสังคม การนำภาพ หรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นมาดัดแปลงตัดต่อแล้วนำมาเผยแพร่ให้บุคคลนั้น ๆ เกิดความอับอายเสื่อมเสียชื่อเสียง การส่งต่อรูปลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นรูปของตัวเอง หรือรูปคนอื่น การโพสต์ข้อความหรือรูปใด ๆ อันเป็นการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนชาวไทยให้ได้รับความเสื่อมเสียแห่งเกียรติยศอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งในปัจจุบันนี้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ชอบสร้างข่าวลือดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อยากจะฝากถึงผู้อ่านทุกท่านว่าให้เสพข่าวสารด้วยความระมัดระวัง เพราะผู้สร้างข่าวลือมักฉลาดในการสร้างข่าวที่เป็นจุดสนใจในการโน้มน้าวใจคนให้คล้อยตามโดยไม่รู้ตัว สุภาษิตไทยสอนว่า “จงฟังหู ไว้หู” ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องเป็นคนที่มีวิจารณญาณที่ดีไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพื่อที่เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลือ หรือตกเป็นเครื่องมือของการเป็นผู้ส่งต่อข่าวลือนั้น ๆ

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th

Rate Us

Rate our Website !!

Links

SDalumni PTAD St.John Bosco's Bicentenary SAVIO ESPRESSO

CONTACT US

โรงเรียนเซนต์ดอมินิก
1526 ถนน เพชรบุรีตัดใหม่ แขวง มักกะสัน เขต ราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
E-mail : [email protected]
Tel. 02-652-7477-80 Fax. 02-652-7777
Saint Dominic School