Monday
9 Janแนะวิธีช่วยเหลือ ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าช่วยเหลือ โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น กรณีสถานที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้า จึงสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะที่ไม่รุนแรง แต่การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างไม่ถูกวิธี อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และส่งผลให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)
ขอแนะวิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างถูกวิธี ดังนี้ คำนึงถึงความปลอดภัยในการเข้าช่วยเหลือ โดยสำรวจสภาพแวดล้อมและสภาพการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หากมีความปลอดภัย จึงสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ โทรศัพท์แจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเกิดเหตุ จำนวนและอาการของผู้บาดเจ็บ
เพื่อจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ช่วยชีวิตเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในเบื้องต้น โดยช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่มีอาการรุนแรงเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หมดสติ หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น ให้ทำการปั๊มหัวใจ กรณีเสียเลือดมากให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าหรือเชือกรัดบริเวณเหนือบาดแผล
กรณีบาดเจ็บเล็กน้อยให้ปฐมพยาบาลตามอาการ หากไม่มีความรู้ในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง เพื่อความปลอดภัย ควรรอให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือและนำส่งสถานพยาบาล จะช่วยป้องกันผู้ประสบเหตุบาดเจ็บรุนแรง พิการซ้ำซ้อนหรือเสียชีวิต ประเมินสถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางหลักที่รถใช้ความเร็วสูง
อุบัติเหตุที่เกิดในช่วงเวลากลางคืน หากไม่ปลอดภัยไม่ควรเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง ให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าช่วยเหลือ เพราะมีความพร้อมทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ จึงช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ กรณีสถานที่เกิดเหตุมีเสาไฟฟ้าล้มหรือสายไฟฟ้าขาด ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าดำเนินการตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จึงสามารถเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติกรณีเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/