Thursday
19 Janเชื้อไวรัสโนโร ล้างมือบ่อยป้องกันได้
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีมีการส่งต่อข่าวในโซเซียลมีเดียว่าพบเด็กติดเชื้อไวรัสโนโรและมีอาการหนักในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จากการตรวจสอบพบว่าป่วยจากติดเชื้อไวรัสโนโรและเข้ารักษาในโรงพยาบาลจริง ซึ่งเชื้อไวรัสโนโร ไม่ใช่เชื้อไวรัสใหม่และไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ เดิมไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในไทยเพราะไม่ค่อยพบระบาดในคนหมู่มาก และการตรวจเชื้อยุ่งยาก แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นจึงตรวจพบได้มากขึ้น ปกติเชื้อนี้ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนไตวายโดยตรงเหมือนเชื้ออื่นๆ เช่น อีโคไล แต่เด็กอาจไตวายได้หากดูแลรักษาไม่ทัน โดยเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือท้องเสีย ส่วนใหญ่จะพบในเด็กวัยเรียน
นพ.เจษฎากล่าวว่า ไวรัสนี้ในไทยพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากช่วงปลายฝนต้นหนาวถึงฤดูหนาว ติดต่อจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เชื้อคงทนในสิ่งแวดล้อมมาก หากผู้ป่วยเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ-ล้างไม่สะอาด แล้วไปจับลูกบิดประตู-ก๊อกน้ำ เชื้อโรคก็ยังอยู่ ส่วนใหญ่มักทำให้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องเสีย อาจมีไข้ต่ำๆ ได้ อาการจะปรากฏ 2-3 วัน ส่วนใหญ่หายได้เอง แต่รายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการขาดน้ำ ต้องให้น้ำเกลือ-นอนโรงพยาบาล โดยอาหารที่มักก่อให้การติดเชื้อได้บ่อย ได้แก่ น้ำ/น้ำแข็งที่ปนเปื้อนเชื้อ อาหารประเภทหอย การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ป้องกันขาดน้ำ
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/