Tuesday
31 Jan6 วิธี กำจัดขยะมูลฝอยหลังน้ำลด
กรมสบส.แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม “ไม่ควรใช้มือเปล่า” เก็บขยะ ทำความสะอาดบ้านเรือน เสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค สิ่งปนเปื้อนอันตรายจากขยะ
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจน้ำท่วมสถานพยาบาลในภาคใต้และการสนับสนุนภาคประชาชนของกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัย 7 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี พัทลุง ยะลา สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส และมีพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัดคือ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งจากการประเมินชุมชน ปัญหาในพื้นที่ที่ระดับน้ำลดแล้วจะพบว่ามีปริมาณขยะมูลฝอยจำนวนมาก มีทั้งขยะวัชพืช เศษไม้ ขยะจากสิ่งปลูกสร้าง ของใช้ต่างๆ และขยะอันตราย เช่นหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย เป็นต้น รวมทั้งมีตะกอนดินทรายที่น้ำพัดพามาจำนวนมาก ซึ่งประชาชนมีความเสี่ยงอันตรายทั้งจากเชื้อโรคที่อยู่ในดินโคลนชื้นแฉะ เช่น เชื้อโรคฉี่หนู เชื้อบาดทะยัก รวมทั้งอันตรายสัตว์มีพิษและจากสารเคมี โลหะหนักต่างๆ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ถ่านกระดุมมักมีสารปรอทเจือปน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คือระบบประสาทส่วนกลาง หากเป็นถ่านไฟฉายจะมีสารแคดเมียม เป็นอันตรายต่อโครงสร้างกระดูก ปอด และไต
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงขอแนะนำให้ประชาชนที่จะเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านเรือนทั้งภายในและนอกบ้านภายหลังน้ำลด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเกี่ยวกับขยะมูลฝอยต่างๆ ในพื้นที่น้ำท่วม ขอให้ปฏิบัติ 6 ประการ ดังนี้
1) ไม่ควรใช้มือเปล่าเก็บขยะ เนื่องจากมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคและสารเคมี ก่อนดำเนินการทุกครั้ง ขอให้แต่งกายให้มิดชิด เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย คือ สวมถุงมือยาง หรือถุงพลาสติก ใส่รองเท้าบูท สวมหน้ากากอนามัย
2) ขณะที่ทำการเก็บขยะภายในบ้านให้เปิดประตูหน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
3) ควรแยกขยะเปียก และขยะแห้งออกจากกัน ใส่ถุงดำและเก็บให้พ้นน้ำ สำหรับถุงเศษอาหารควรบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดแข็งแรงอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันสัตว์มากัดแทะหรือสัตว์มีพิษมาอาศัยซ่อนแอบซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
4) ควรแยกขยะประเภทอันตราย เช่น เครื่องไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ขวดบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายออกจากขยะทั่วไป โดยใส่ถุงปิดให้มิดชิดและเขียนป้ายว่าเป็นขยะอันตรายและเก็บให้พ้นน้ำเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดให้ถูกวิธี
5) ให้ทำความสะอาดมือและร่างกายทุกครั้งภายหลังสัมผัสขยะหรือสิ่งสกปรก และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังที่มีบาดแผลสัมผัสน้ำท่วมขัง เพื่อความปลอดภัยจากสารเคมีและเชื้อโรค
6) หากหลังสัมผัสขยะแล้วรู้สึกแสบคันจมูกเวียนศีรษะ หรือเกิดความผิดปกติใดๆ กับร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีหรือแจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.ที่อยู่ใกล้โดยเร็ว โดยกรมสบส.ได้ให้อสม.ประชาสัมพันธ์คำแนะนำดังกล่าว ผ่านทางหอกระจายข่าวในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/